GOOD

 

memorry memorry Author
Title: ค้นความหมาย 'พิธีสู่ขวัญ' (แพนด้าน้อย)
Author: memorry
Rating 5 of 5 Des:
เสริมสิริมงคล....ดำรงชีวิตมีสุข จากความน่ารักของแพน ด้าน้อย ซึ่งยังคง เป็นขวัญใจมีความเคลื่อนไหวให้ติดตามต่อเนื่องมาและหลังจากที่มีอายุครบ ...


เสริมสิริมงคล....ดำรงชีวิตมีสุข

จากความน่ารักของแพน ด้าน้อย ซึ่งยังคง เป็นขวัญใจมีความเคลื่อนไหวให้ติดตามต่อเนื่องมาและหลังจากที่มีอายุครบ เดือนผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้

ในความคืบหน้าของแพนด้าน้อยซึ่งมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นตามลำดับ เร็ววันนี้จะมีงานฉลองความปีติยินดี “สู่ข้าวเอาขวัญแพนด้าน้อย” รับขวัญลูกหมีแพนด้า

ขณะที่ การทำขวัญ เรียกขวัญ รับขวัญ ในวิถีวัฒนธรรมไทยมีปรากฏมายาวนานและแต่ละภูมิภาค ท้องถิ่นจะเรียกขานต่างกันไปนั้น กล่าวกันว่าหากขวัญอยู่กับตัวเจ้าตัวจะมีพลังมีความมั่นคง ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แต่หากตกใจเสียขวัญ ขวัญจะออกไปหรือที่เรียกรู้จักกันในความหมายของ ขวัญหนี ขวัญหาย หรือขวัญกระเจิง ซึ่งในแนวคิดเรื่องขวัญ และคำว่า ขวัญ นั้นมีความหมายความนัยอยู่ไม่น้อย

วัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติ ศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ให้ความรู้ว่า ขวัญ ในคำนี้นัยเชิงนามธรรม ซึ่งแม้จะมองไม่เห็นรูปไม่เห็นร่างแต่สามารถรู้สึกได้ซึ่งหากขวัญมีอยู่เรา ก็จะมีความมั่นคง มีความมั่นใจ ถ้าขวัญไม่อยู่ก็จะเกิดความไม่มั่นใจ เกิดความอ่อนแอ

อีกความหมาย ซึ่งเป็นคำ ในเชิงภาษา กลุ่มหนึ่ง จะมีความหมายเป็นไปในเชิงคำวิเศษณ์ หมายถึง สิ่งที่เป็นที่รักเป็นที่บูชา เป็นที่ รักมาก อย่าง ลูกขวัญ ลูกที่เป็นที่รัก หรืออะไรที่บูชามาก อย่างเช่น ขวัญตา ขวัญใจ ขวัญเกล้า ขวัญกระหม่อม ฯลฯ แต่ถ้ามองในเชิงนามจะมีความหมายถึงขนที่ขมวดกันเป็นก้นหอย เป็นขวัญ อย่างคนนี้มีขวัญ หรือ หนุมานมีขวัญทั้งตัว เป็นต้น ซึ่งในคำเหล่านี้ที่โยงใยไปสู่คำว่า ทำขวัญ สู่ขวัญ พาขวัญ ฮ้องขวัญ ฯลฯ นั้นมีอยู่สองเรื่องคือ การปลุกให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา กับ เรียกให้กลับคืนมา ในนัยของขวัญที่กล่าวถึงกันนั้นจึงมีทั้งการทำขวัญให้ดีในเชิงสู่ขวัญ กับการเรียกขวัญให้ขวัญกลับมาอยู่ด้วยกัน

นอกจากนี้ในภาพของขวัญยังเป็นเรื่องของกำลังใจเป็นการสื่อถึงคุณธรรม จริยธรรมเพราะขวัญบางลักษณะเป็นเรื่องของการแสดงความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งไม่เพียงการทำขวัญกับคน ในสัตว์ สิ่งของนั้นก็มีการทำขวัญได้เช่นเดียวกัน

“ในส่วนของคนคงไม่ต้องบอกเล่ากันมากเพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกกำลังใจ ความมั่นใจ ทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง มีความสุข ในเรื่องของสัตว์นั้นมีความชัดเจนเป็นเรื่องของการแสดงความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการทำขวัญควาย สู่ขวัญวัว ฯลฯ เหล่านี้นั้นเป็นสัตว์ที่ให้คุณ

อย่างสังคมเกษตรกรรมในวันวาน การมีกินมีอยู่ได้ก็เพราะสัตว์เหล่านี้ช่วยทำงานและระหว่างการทำงานอาจเกิด ความเพลี่ยงพล้ำไปตีไปดุ พอหมดภาระหน้าที่อย่างหมดช่วงการทำนาก็จะมีการขอโทษกัน นึกถึงกัน ฯลฯ ส่วนที่เป็นสิ่งของที่ต้องทำขวัญที่พบเห็นก็จะมี เรือนที่อยู่อาศัย ข้าว ก็มีการทำขวัญ ฯลฯ”

การทำขวัญในมิตินี้จึงเป็นสิ่งที่ดีมีความเป็นมงคล ซึ่งในเชิงจิตใจก็จะก่อเกิดความมั่นคงความสบายใจแสดงถึงความสุข อีกทั้งยังให้มุมมองในแง่ของจริยธรรมความกตัญญู รู้คุณ รู้จักการขอโทษสำนึกสิ่งที่ผิดพลาด อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการตอบแทนคุณผู้มีพระคุณ ถ่ายทอดถึงภูมิปัญญาแยบยลเตือนให้รู้ระมัดระวังการกระทำ การดำเนินชีวิต



ส่วนทางด้านพิธีเรียกขวัญหรือร้องขวัญ จากที่มีการกล่าวถึงกันนั้น ล้านนาโบราณจะใช้คำว่า สู่ข้าวเอาขวัญ โดยวัตถุประสงค์หลักของพิธีคือ การส่งเสียงเรียกร้องเป็นทำนองเสนาะ เพื่อเรียกเอาขวัญที่อาจเตลิดไปให้กลับคืนสู่ร่างกาย เจ้าของขวัญจะได้อยู่ดีมีสุข อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักวิชาการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าพิธีกรรมสู่ข้าวเอาขวัญแพนด้าน้อย อธิบายไว้ พร้อมให้ความรู้พิธีสู่ข้าวเอาขวัญเพิ่มว่า จากความเชื่อนี้ทำให้เกิดความนิยมมีพิธีสู่ข้าวเอาขวัญ ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ การบวช การขึ้นบ้านใหม่ ต้อนรับผู้มาเยือน ส่งผู้ที่จากไปสู่แดนไกล และโอกาสได้เลื่อนยศ ตำแหน่ง หน้าที่การงานตลอดจน เมื่อเกิด การเจ็บป่วย ฯลฯ ซึ่งในด้านพิธีนั้นจะมีสิ่งสำคัญ อย่างน้อย 4 อย่างได้แก่ เครื่องบูชาครู บายศรี พิธีกรรมเชิงปฏิบัติ และหมอขวัญ

ในเครื่องบูชาครูก่อนประกอบนั้นพิธีเจ้าภาพต้องจัด เตรียมเครื่องบูชาครูที่เรียกทั่วไปว่า ขันตั้ง สำหรับหมอขวัญใช้ประกอบพิธีไหว้ครูของตน ซึ่งมักประกอบด้วย กรวยดอกไม้ธูปเทียน กรวยหมากพลู ผ้าขาวผ้าแดง ข้าวเปลือกข้าวสาร เงิน และน้ำส้มป่อย

ส่วน บายศรี ซึ่งหมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญจะทำด้วยใบตองประดับด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ พร้อมดอกไม้มงคล เช่น ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย เป็นต้น จัดวางบนขันหรือพาน เรียกว่า ขันบายศรี บายศรีนั้นจะมี 4 ประเภท ได้แก่ บายศรีหลวง บายศรีนมแมว บายศรีปากชาม และบายศรีกล้วย

“บายศรีที่นิยมโดยทั่วไปได้แก่บายศรีนมแมว ซึ่งจะจัดทำขึ้นอย่างประณีตสวยงาม ภายในบรรจุข้าวเหนียวปั้น กล้วยน้ำว้า ไข่ต้ม อาหาร ขนม ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ พร้อมกันนี้จะมีการ จัดเตรียมด้ายผูกข้อมือ และน้ำส้มป่อยควบคู่ไปด้วย”

ในส่วนพิธีกรรม เมื่อเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้วผู้เข้าพิธีที่จะนั่งหน้าขันบายศรี โดยมีหมอขวัญนั่งเยื้อง ๆ อยู่ด้านตรงข้าม จากนั้นหมอจะประกอบพิธีตามขั้นตอน หมอขวัญจะกล่าวคำนมัสการครูแต่ละคนอาจมีคำกล่าวต่างกัน อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยขับทำนองเสนาะจากบท กวีที่ส่วนใหญ่เป็นโคลงสี่สุภาพ ตามด้วยบทอัญเชิญที่คล้องจองกัน ทำพิธีปัดเป่าเคราะห์ร้าย กล่าวคำเรียกขวัญและผูกด้ายมงคล ฯลฯ

จากที่กล่าวแนวคิดเรื่องขวัญยังมีการเรียกขวัญสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานอย่าง ช้าง และ วัวควาย ชาวล้านนาจะประกอบพิธีเรียกขวัญให้เพื่อปลุกปลอบใจและขอขมาที่เคยได้ล่วง เกิน ในช่วงเวลาที่ใช้งาน นักวิชาการท่านเดิมกล่าวเพิ่มอีกว่า สำหรับหมีแพนด้านั้นแม้จะไม่ใช่สัตว์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงไม่เคยมีพิธีการสู่ขวัญ หรือรับขวัญมาก่อน โดยมากชาวล้านนาจะทำ พิธีดังกล่าวกับสัตว์ที่มีประโยชน์ในการใช้ทำงาน จะทำพิธีเพื่อสู่ขวัญให้แข็งแรงสมบูรณ์ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ขอขมาที่ล่วงเกินทุบตี หรือใช้งานเกี่ยวทำไร่ไถนาลากจูงสิ่งต่าง ๆ

ส่วนแพนด้านั้นมีประโยชน์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนมากมาย อีกทั้งยังเป็น ทูตสันถวไมตรีจากประเทศจีน จึงต้องมีการรับขวัญ สู่ขวัญให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไม่เจ็บไม่ไข้ เรียกว่า การสู่ข้าวเอาขวัญ แต่ไม่ใช่การบายศรีสู่ขวัญ เพราะจะไม่มีการขอขมาลาโทษในพิธีดังกล่าว

“พิธีการจะประยุกต์เหมาะสมจะมีการจัดตั้งแท่นพิธีกรรมบริเวณใกล้ส่วนเลี้ยง ของแพนด้าหลินฮุ่ย แพนด้าน้อย และช่วงช่วง โดยจะโยงด้ายสายสิญจน์โดยรอบ มีการจัดเตรียม อ้อย กล้วย ถั่ว งา น้ำผึ้ง ใบไผ่ โดยจะมีพุ่มรับขวัญพิเศษที่ทำจากผลไม้พวกแอปเปิ้ล แครอท ใบไผ่ ที่แพนด้าชื่นชอบ ประดับประดาคล้ายพุ่มบายศรีอย่างสวยงาม จากนั้นจะทำพิธีเรียกขวัญ หรือร้องขวัญ ให้กับแพนด้าน้อย คุ้มครองแพนด้าน้อย”

นอกจากนี้ในงาน “สู่ข้าว เอาขวัญ แพนด้าน้อย” ที่กำลังจะมีขึ้นวันที่ 4-6 ก.ค. 2552 ซึ่งภายในงานจะมีรูปแบบ ฮอมปอย หรือ งานปอยหลวง เน้นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของชาวเชียงใหม่โดยในงาน มีกิจกรรมหลากหลายทั้งการแสดงของวงโยธวาทิตโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ การแสดงดนตรีในสวน การแสดงนิทรรศการ รวมถึงการเปิดให้เข้าชมความน่ารักของแพนด้าอย่างใกล้ชิด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เตรียมรับขวัญทายาททูตสันถวไมตรี หมีแพนด้าน้อยตัวแรกที่เกิดในประเทศไทย.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ/วัชระพงษ์ จริงเข้าใจ

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์







travel and food,Thailand

Advertisement

Post a Comment

 
Top