GOOD

 

memorry memorry Author
Title: ประเพณีจิบอกไฟ (จุดบ้องไฟ)
Author: memorry
Rating 5 of 5 Des:
ประวัติ / ความเป็นมา จุดบ้องไฟ หรือ จิบอกไฟ นิยมเล่นกันที่ภาคเหนือในเทศกาลต่างๆ เช่น งานประเพณีสรงน้ำพระ ที่วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอ...

ประวัติ / ความเป็นมา

จุดบ้องไฟ หรือ จิบอกไฟ นิยมเล่นกันที่ภาคเหนือในเทศกาลต่างๆ เช่น งานประเพณีสรงน้ำพระ ที่วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระนอนป่าเก็ดกี่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น นอกจากจะได้กุศลจากการจัดงานแล้ว ยังได้ความสนุกสนาน บุญกุศลที่ได้เพราะเป็นความตั้งใจสักการะ กราบไหว้พระเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประเพณีจุดบอกไฟแต่ละแห่งจัดเป็นงานใหญ่ทุกปี มีการประกวดชิงรางวัลจากคณะกรรมการจัดงาน และมีผู้สนใจนำบอกไฟเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก
ประเพณีจิบอกไฟนี้มีนานแล้วตั้งแต่โบราณ ดังเช่นพงศาวดารเมืองน่าน มีว่า ในสมัยของสมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ) ได้ทำบุญเฉลิมฉลองปอยหลวงเนื่องในวันมาฆบูชา ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ความตามพงศาวดารมีว่า
"เถิงวันเดือน 6 ขึ้น 12 ค่ำ ท่านก็มีอาชญาหื้อเจ้านายเสนาอามาตย์ ไพร่ไทยทั้งหลายก่อตั้งเล่นมโหรสพในท้องข่วงสนามไปถาบเถิงวันเดือนเพ็งนั้น เวลาเช้า ก็จึงจักยกครัวทานทั้งหลายทั้งมวลขึ้นไปยังข่วงแก้วภูเพียงแช่แห้ง ได้นิมนต์พระสงฆ์เจ้าแลสามเณรมารับทานที่ในข่วงพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง รวมเส้นหัววัดมี 139 หัววัด รวมภิกษุสงฆ์เจ้าทั้งหลายมี 463 องค์ รวมสามเณรมี 863 องค์ รวมเข้ากันมี 1,362 องค์แล ทินนวัตถุทานหอผ้ามี 136 หลัง ท่านก็ได้แบ่งบอกไฟขวีใหญ่บอกหนึ่ง ใส่ดินไฟเสี้ยง 347,000 อัน หนป่าวอนุโมทนาทาน มีบอกไฟขึ้นตั้งแต่ 10,000 นับลงลุ่มมี 144 บอก บอกไฟขวีน้อย แลบอกไฟกวาง บอกกงหัน บอกไฟดาว บอกไฟนก บอกไฟเทียน และปฏิช่อทุง ทั้งมวลจักคณาบ่ได้ บอกไฟขึ้นเจาะ 3 วัน จิงเมี้ยนบริบวรณ์แล..."
จะเห็นว่าในอดีตนิยมจุดบอกไฟกันมาก ในพงศาวดารที่กล่าวถึงนั้น ใช้เวลาถึง 3 วัน จึงแล้วเสร็จ และในสมัยที่เจ้าผู้ครองนครน่านปกครองนั้นมีบอกไฟขึ้นขององค์เจ้าหรือของ เจ้าเมือง อย่างน้อย 3 ลำ ซึ่งของเจ้านครน่านต้องใหญ่กว่าราษฎร และเจ้าเมืองต้องเสด็จเป็นองค์ประธาน ณ ปะรำพิธีที่จัดเตรียมไว้ให้โดยเฉพาะ และมีเจ้าพนักงานนำบอกไฟขององค์เป็นเจ้าทั้ง 3 ลำ จุดนำเพื่อเอาฤกษ์เสียก่อน


กำหนดงาน
จัดในเดือน 9 เหนือ แรม 14-15 ค่ำ รวม 2 วัน ส่วนวัดพระนอนป่าเก็ดกี่จัดในวันสงกรานต์ (วันพญาวันเถลิงศก) วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จัดในเดือน 8 เหนือ ส่วนวัดวาอารามในจังหวัดอื่นๆ ก็จัดกันตามประเพณีที่กำหนด แต่ละแห่ง ซึ่งไม่เหมือนกัน
สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ www.tat.or.th


กิจกรรม / พิธี
สถานที่ต้องจัดเตรียมให้ห่างไกลหมู่บ้าน เพราะอาจเกิดอันตรายจากบอกไฟ นอกจากนี้ก่อนจุดจะมีขบวนแก่บอกไฟ และมีการ "ฮ่ำบอกไฟ" ซึ่งมีท่วงทำนองที่น่าฟังผู้ขับจะขับด้วยน้ำเสียงอันดัง มีจังหวะจะโคนเข้ากับทำนองฆ้องกลองที่ตีรับ หรือมีเสียงสะล้อ ซอ ซึ่ง คลอด้วย ในบทฮ่ำนั้นก็จะพรรณาความ หรือบรรยายความทุกข์ยากของขั้นตอนการทำบอกไฟ หรืออวดอ้างสรรพคุณของบอกไฟที่ตนและคณะได้ทำขึ้น หรือ ฮ่ำอวยพรให้บุญกุศลจงบังเกิดกับตนเองหรือหมู่คณะ ตัวอย่างของฮ่ำบอกไฟ เช่น
สาธุการ มือสารหว่านไหว้
พุทธะเทพไท้ ตนสัพพัญญู
หมู่ชุมข้าตู ได้แป่งแต่งสร้าง
บอกไฟขึ้นค้าง จิจุดบูชา
ขึ้นสู่เวหา จนปลอมเมฆฟ้า
บ่าวสาวเหงี่ยงหน้า แหงนผ่อภายบน
ฟังเสียงคำรณ เสียงดังโหวดโหว้
บอกพ่อไฟพ่อโข้ สล่าโบราณ
กับพ่อออกหนาน กาวงศ์บ้านใต้
ขออภิวาทไหว้ ยังพระเกษแก้ว
หื้อเป็นที่แล้ว แห่งปฏิธาน
ขอได้เชยบาน สุขสันต์เมื่อหน้า
ผ่อบอกไฟข้า สู่ห้องภายบน
ขอเป็นกุศล ผลบุญจิ่มข้า
ก่อนและนา
แต่กว่าจะได้แห่แหนและฮ่ำบอกไฟอย่างสนุกสนานนั้น ก็ต้องผ่านขั้นตอนของการทำบอกไฟที่ยากลำบากมาก่อน และบอกไฟก็มีมากมายหลายชนิดข้อมูลของบอกไฟแต่ละชนิด ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ได้สัมภาษณ์ นายวินัย อภิบาล บ้านเลขที่ 67 ถนนบำรุงราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากการสอบถามพบว่า นายวินัยได้สืบทอดการทำบอกไฟจากผู้เป็นบิดา ซึ่งมีความชำนาญในการทำบอกไฟทุกชนิด และในปี พ.ศ. 2514 ได้นำบอกไฟหมื่นจุดประกวดงานประเพณีจุดบ้องไฟวัดพระนอนขอนม่วง ชนะได้รางวัลที่ 1 ประเภทบอกไฟใหญ่ หรือบอกไฟหมื่น และในปัจจุบันนายวินัย พร้อมลูกๆ ก็ยังสืบทอดการทำบอกไฟ และจำหน่ายแก่ผู้ต้องการนำไปจุดในงานมหกรรมต่างๆ ไม่ได้ขาด และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีของชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงทั่วไป และบอกไฟแต่ละชนิดมีดังต่อไปนี้
1.บอกไฟยิง เป็นบอกไฟที่ประชาชนนิยมเล่นกันมาก ในงานตรุษสงกรานต์ งานเทศน์มหาชาติ ลักษณะเป็นบอกไฟขนาดเล็ก ใช้ประจุดินปืนหรือเฝ่าลงไปในกระบอกไม้ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 8 นิ้ว คาดด้วยหวาย เจาะรูใส่ชนวน บอกไฟจะแล่นไปตามเส้นลวดเข้าจุดที่หมายที่วางไว้ คือ ปราสาทเรือนศพของคนตายในล้านนาไทย บอกไฟยิงจะเกี่ยวกับงานศพ หรือปอยล้อของภาคเหนืออย่างแยกกันไม่ออกนิยมจุดเวลาเผาศพเกือบทุกงาน
2.บอกไฟข้าวต้ม เป็นบอกไฟขนาดเล็กสุด ภาคกลางเรียกว่า "บ้องไฟกุ้ง" การทำง่ายกว่าบอกไฟชนิดอื่น โดยการเอาดินปืนหรือเฝ่ามาห่อด้วยใบกล้วยหรือกาบกล้วยแห้ง รัดด้วยเชือกกล้วยอย่างหนาแน่น ทำชนวนเล็กๆ สอดเอาไว้ข้างท้ายและเอาแซ่พร้าวผูกด้าย เวลาจุดก็เอามือจับตรงตัวบอกไฟ ใช้ก้านธูป หรือบุหรี่จ่อเข้าที่ชนวน พอไฟเข้าไปในตัวเสียงดังฟู่ ก็ปล่อยมือบอกไฟจะแล่นขึ้นอากาศ โดยมากนิยมในงานยี่เป็ง คือ เพ็ญเดือน12 ของภาคกลางเดือนนี้ทางล้านนาไทยนิยมรื่นเริงประดับด้วยโคมไฟมีการลอยกระทง เด็กๆ และหนุ่มสาวนิยมบอกไฟข้าวต้มพุ่งขึ้นไปบนอากาศ พะเนียงไฟพุ่งเป็นสายน่าดูยิ่งนัก
3.บอกไฟท้องตัน หรือบอกไฟแส้ด ภาคกลางเรียกว่า จรวดหาง ทำจากกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว คาดด้วยหวายที่เหลาบางๆ ประจุดินปืนหรือเฝ่า รัดด้วยดินเหนียวที่ปากกระบอก เจาะรูใส่ชนวน คาดด้วยไม้ไผ่จักเป็นแซ่ยาวประมาณ 1 เมตร ทำเป็นหาง ด้านหัวสอดชนวนประทัดลูกหนึ่ง คาดพร้อมกันกับหาง เวลาจุดพุ่งขึ้นไปบนอากาศแล้วพอไฟกินเฝ่าหรือดินปืนมาจนถึงสายชนวน ประทัดจะเกิดไฟแลบขึ้นระเบิดทำลายบ้องไปเป็นเศษเล็กเศษน้อย ไม่ให้ตกลงมาเป็นอันตรายต่อบ้านเรือน หรือประชาชนผู้ชมดู บอกไฟชนิดนี้เป็นบอกไฟที่นิยมกันแพร่หลาย และทำขายได้ราคาดีที่สุด การจุดนั้นคนที่กล้าหาญมักจะถือไว้ เมื่อไปติดชนวนเข้าหาดินปืน พอรู้สึกตึงมือก็โยนส่งขึ้นไป บ้องไฟก็จะพุ่งขึ้นสู่อากาศอย่างน่าดู แต่บางครั้งคนจุดจะสะดุ้งต่อเสียงรับ ปล่อยมือก่อนที่บอกไฟจะติดเฝ่า หรือดินปืนเต็มที่ เมื่อตกลงพื้นก็จะพุ่งไปข้างหน้าโดยปราศจากการควบคุมทำให้เป็นอันตรายได้คน อยากสนุกแต่หวาดกลัวมักจะเอาพาดไว้ที่ค้างตอนโล่งๆเมื่อจุดมันจะพุ่งขึ้นไป ได้เอง
4.บอกไฟขึ้น มีลัษณะคล้ายกับบอกไฟท้องตันแต่ทำใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกประจุเฝ่าดินปืนขนาด 2-3-4 กิโลกรัม กระบอกไม้คาดด้วยหวายอย่างมั่นคง การประจุเฝ่าดินปืนนั้นทำเป็น 2 ท้อง 3 ท้อง ได้เรียกว่า ท่อนเดียว หรือ สองท่อน หมายถึง การประจุดินท้องแรกเอาดินมาตอก อัดด้านหัวอย่างหนาแน่น แลัวประจุดินปืนลงไปตามต้องการ แล้วใช้ดินอัดท่อนถัดมาตอกอัดแน่นประมาณ 2 นิ้ว แล้วเจาะรูตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางบ้องไฟ สำหรับใส่ชนวนบอกไฟที่ประจุดินปืนไว้ท่อนเดียว ทางเหนือเรียกบอกไฟก้อมเดียว ถ้าใส่ 2 ท่อน หรือ 2 ท้อง เรียกว่า บอกไฟ 2 ก้อม หางบอกไฟนี้ใช้ไม้ไผ่เรี้ยทั้งลำ แต่ขนาดไม้ไผ่ต้องให้พอดีกับขนาดของบอกไฟด้วย มันจึงสามารถนำตัวขึ้นสู่อากาศได้อย่างดี การทำบ้องไฟต้องอาศัยความชำนาญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องทางเคมี และอันตราย บอกไฟหลายท่อน นอกจากจะเรียกก้อมแล้ว ยังเรียกว่า "จาด" ได้อีก ถ้าบอกไฟ 2 จาด คือ 2 ท่อน 3 จาด ก็ 3ท่อน ซึ่งบางแห่งจะเรียกว่า 2 ก้อม 3ก้อม ความหมายจะเป็นอย่างเดียวกันนี้
5.บอกไฟใหญ่ บางครั้งเรียกว่า บอกไฟหมื่น คือ มีขนาดใหญ่ ใช้ประจุเฝ่าดินปืนเป็นสิบๆ กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับบอกไฟแสนของทางภาคอีสานว่ามีขนาดต่างกันอย่างไร คุณวินัย ก็อธิบายว่า บ้องไฟแสนของทางภาคอีสานนั้นใช้ตราชั่งแบบโบราณ เหมือนของภาคเหนือ ที่ใช้ตราชั่งแบบแขวน มีระบบการนับเป็นฮ้อย พัน หมื่น แสน ล้าน ตามน้ำหนักลูกเป็ง คือโลหะที่ทำเป็นรูปราชสีห์ มีน้ำหนักเป็นฮ้อย พัน ตามลำดับ หากเปรียบเทียบกับเครื่องชั่งปัจจุบัน นับเป็นกิโลกรัมอย่างของล้านนาไทย นิยมชั่งแบบกิโลกรัม บอกไฟหมื่นถ้าเปรียบกับทางอีสานก็เป็นบอกไฟแสนได้ ด้วยการใช้เครื่องชั่งดังกล่าว
บอกไฟใหญ่หรือบอกไฟหมื่น เอาเฝ่าหรือดินประสิวเป็นเกณฑ์ ตามขนาดตราชั่งแบบโบราณเป็นชั่งจีนหรือชั่งก้อม ถ้านับเป็นแบบกิโลกรัม หรือหนึ่งหมื่นจะมีน้ำหนักเท่ากับชั่งก้อม 13 หมื่น หรือ 1 หมื่น 3 พันฮ้อย ในการชั่งแบบโบราณการทำบอกไฟใหญ่ต้องใช้ความละเอียดมากในการหาไม้สำหรับทำ บ้องไฟ การทำหาง และการเลือกสรรดินปืนหรือเฝ่าอย่างมีประสิทธิภาพใส่ลงในบ้องไฟมีรายละเอียด ในการทำเป็นขั้นตอนดังนี้
- ถ่านที่นำมาประสมกับดินไฟหรือดินประสิว ต้องเป็นถ่านไม้มะม่วง ถ่านไม้สัก ถ่านไม้ฉำฉา หรือจามจุรี ถ่านไม้อื่นๆ มีประสิทธิภาพสู้ถ่านไม้ทั้ง 3 นี้ไม่ได้- นำไม้ไผ่ซางขนาดกลางมาเจาะทะลวงข้อมีขนาดยาว 7 ปล้อง หรือท้องดินปืนไม่ต่ำกว่า 2 เมตรครึ่ง หรือ 1 เมตรครึ่ง ปากกระบอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 3 เซนติเมตร
- เอาหวายเส้นขนาดนิ้วก้อยมาคาดอย่างมั่นคง ตลอดตั้งแต่ส่วนต้นถึงปลาย
- นำไม้ไผ่ซางทั้งลำมาเป็นห้าง ผูกติดกับลำบอกไฟนั้นอย่างมั่นคง
- ทำโหว้ หรือ กระบอกเสียง สำหรับรับลมเวลามันทะยานขึ้นจากค้างแล้วตกลงมาสู่พื้นจะเกิดเสียงน้อยใหญ่สลับกัน
การทำดินปืน ทางภาคเหนือเรียกว่า ทำเฝ่า ทำเป็นชนิดตามความต้องการจะให้เกิดความเร็วในการระเบิด หรือการติดไฟ โดยเอาเฝ่าชนิดต่างๆ นี้วางไว้ตามระยะของการจุดระเบิด จะต้องการให้ช้า หรือไวอย่างใด เช่น
1.เฝ่า 8 คือดินปืนชนิดดินไฟหรือดินประสิว 1 กิโลกรัม ต่อถ่าน 8 ขีด เป็นเฝ่าที่จุดได้ช้านิยมวางไว้ในจุดเริ่มแรก หรือจุดสตาร์ท เพื่อให้บ้องไฟทะยานขึ้นจากพื้นช้าๆ และเร็วขึ้นตามลำดับ เมื่อไฟเริ่มติดเฝ่าที่มีส่วนประสมดินไฟมากขึ้น
2.เฝ่า 6 คือดินปืนที่ใช้ส่วนผสมดินไฟหรือดินประสิว 1 กิโลกรัม ต่อถ่าน 6 ขีดเป็นเฝ่าดินปืนที่มีความแรงมากขึ้น
3. เฝ่า 4 คือดินปืนที่ประสมด้วยดินไฟหรือดินประสิว 1 กิโลกรัม ต่อถ่าน 4 ขีดครึ่ง ใช้เป็นเฝ่าส่ง คือดินปืนที่ต้องการให้จรวดบอกไฟทะยานขึ้นไปข้างหน้า เฝ่าแบบนี้นับเป็นชนิดที่ไวที่สุด
การจุดบอกไฟทางภาคเหนือ เรียกว่า จิบอกไฟ มีวิธีทำ 3 อย่าง คือ
1.บอกไฟเล็กใช้หลอดพู่ หมายถึง ชนวนสอดเข้าไปในหลอดไม้ ใช้จุดไฟพ่นเข้าหาเฝ่าหรือดินปืนในบ้องไฟ การพู่ก็คือการพ่น หลอดพู่ของทางภาคเหนือ ก็คือหลอดพ่น
2.บอกไฟใหญ่ ใช้หลอดใจหรือหลอดไจ เพราะใช้หลอดไม้หรือสังกะสีทำเป็นหลอดยาวจากปากกระบอกจนถึงส่วนหัว โดยด้านปากกระบอกทำเป็นปมอัดรูไว้อย่างแน่น เวลาจุดชนวนไฟจะติดเข้าไปในหลอด ลามขึ้นไปถึงส่วนหัวเข้าติดเฝ่า คือดินปืนที่เป็นด่านแรก ซึ่งใช้เฝ่า 5 หรือ 6 ตามลำดับ บอกไฟจะเริ่มติดและดันหลอดใจออกมาข้างนอก บางแห่งเรียกหลอดใจนี้ว่าหลอดส่ง คือ เอาการดันของแรงอัดที่เกิดจากการระเบิดของเฝ่าที่หัวบอกไฟ เมื่อไฟดันหลอดออกมาข้างหลัง บอกไฟจะเริ่มเคลื่อนออกจากค้างหรือฐานจรวดขึ้นช้าๆ และพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ติดเฝ่า 5 และ 6 ข้อนี้ขึ้นอยู่กับระยะที่วางดินปืนตามช่องหรือท้องบอกไฟได้พอเหมาะพอดีกับ การระเบิดช่องหนึ่งมาช่องหนึ่งนั่นเอง
3.การจุดบอกไฟอีกแบบหนึ่ง คือ การเจาะส่วนหัวใช้ชนวนชนิดสั้น เรียกว่า เผาหัวการจุดแบบนี้ง่ายกว่าทำเป็นหลอดพู่และหลอดใจ เนื่องจากไม่ต้องทำหลอดให้เสียเวลา แต่ผลเสียก็มีบ้าง คือ บ้างครั้งถ้าช่างไม่ปิดรูให้สนิท แรงอัดจะไม่เพียงพอทำให้บอกไฟไม่ขึ้นจากค้าง ทางเหนือเรียกว่า "บอกไฟเยี่ยว" เสียทั้งเงินทั้งเวลา
4.บอกไฟจักจ่า หรือบอกไฟจักจั่น ภาคกลางเรียกว่า ตะไล เป็นบอกไฟที่นิยมจุดกันมากในงานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ การขึ้นไหว้พระธาตุพระบาทเจดีย์ทางภาคเหนือ และที่นิยมจุดกันอีกงานหนึ่งคือ งานศพของคหบดี หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั่วไป ลักษณะบอกไฟจักจ่าหรือตะไลนี้ นิยมทำด้วยไม้ไผ่รวก อัดด้วยดินเฝ่าดินปืน ทำชนวนออกมาข้างนอก ปีกทำด้วยไม้เฮีย หรือไผ่เรี้ย ดินปืนหรือเฝ่าสำหรับบอกไฟชนิดนี้เป็นชนิดไวไฟ คือ เฝ่า 4 หมายถึง ดินไฟหรือดินประสิว 1 กิโลกรัม ต่อถ่าน 4 ขีด และประสมด้วยกำมะถันอีกส่วนหนึ่ง การใส่กำมะถันเพื่อให้เกิดควันสวยงามเวลาจุดหมุนขึ้นไปบนอากาศ การทำบอกไฟจักจ่านี้เขานิยมประจุดินปืนส่วนหนึ่งไว้ทีปากกระบอก หรือบางที่ใส่ประทัด เวลาบอกไฟหมดแรงดินปืนแล้ว มันจะระเบิดตัวเองแต่บนอากาศไม่ให้ลงมาเป็นอันตรายผู้คน
5.บอกไฟช้างฮ้อง เป็นบอกไฟที่ใช้จุดในคราวมีงานศพพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ หรือชาวบ้านทีมีฐานะดีบางคน เวลาจุดจะมีเสียงครวญครางประดุจช้างร้องด้วยความโศกรันทดใจ และจะร้องเป็นระยะๆ ไป ตามการทำช่วงบอกไฟที่มีเวลาติดไฟเป็นตอน ห่างประมาณ 1 นาที การทำบอกไฟช้างฮ้อง มีวิธีการดังนี้คือ นำเอาไม้ซางขนาดเล็กมาถากด้านหนึ่ง ใช้มีดถากเกลาให้บาง ด้านหนึ่งเจาะเป็นรูสำหรับอัดดินปืนหรือเฝ่าเข้าไปอย่างเพียงพอ มีการวางชนวนโยงจากบอกที่ 1 ไปยังบอกที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับเวลาจุดชนวนและมีเสียงฟู่ออกมาประดุจช้างร้องติดต่อกันจนหมดกระบอก ที่ทำไว้ เท่าที่ได้ศึกษาบอกไฟช้างร้อง ใช้ในงานศพพระหรือ เจ้านายราชการผู้ใหญ่ของภาคเหนือ ไม่ค่อยนิยมทำกันในงานรื่นเริง
6.บอกไฟเทียน คือ ดอกไม้ไฟที่ทำต้นเป็นพุ่ม หรือเป็นแขนยื่นออกไปรอบทิศ ทำเป็นชั้น 5 ชั้น ชั้นแรกทำเป็น 10 แขน ชั้นที่ 2-5 ใช้ 12, 14, 16 และ 18 แขนตามลำดับ แขน คือ แซ่ไม้ที่ฝังติดกับลำต้นบอกไฟและโก่งเข้ามาผูกรวมกันไว้ พอจุดชนวนไฟติดเผาไหม้ เชือกที่คาดไว้ แขนหรือแซ่จะกระเด้งออก มีเชื้อดินปืนอยู่ ปืนแซ่ติดไฟเป็นสีขาวรอบต้นเทียนสวยงามยิ่งนัก ต่อมาระยะหลังวิชาการทางเคมีก้าวหน้ายิ่งขึ้น เขาจึงทำเป็นบอกไฟเทียนสีต่างๆ อย่างสวยงาม ดอกไฟเทียนใช้เฝ่าหรือดินปืนพิเศษกว่าบอกไฟชนิดอื่น เพราะต้องติดกับไม้ เขาจึงผสมด้วยน้ำมันยางและกำมะถันบ้าง ตอนเช้า เขาจะนำหลัว คือ ฟืนมาสุมไว้ข้างวิหาร สอดหมากสะโพกเข้าไว้ด้วยหลายลูก เวลาจุดไฟที่สุมไว้นี้เขาเรียกว่า หลัวหิงไฟพระเจ้า คือใช้ฟืนนี้ก่อไฟให้พระพุทธรูปผิงไฟจะจุดกันเวลาตีสามตีสี่ เพื่อเป็นการปลุกให้ชาวบ้านตื่นขึ้นเอาข้าวมาถวายวัดนอกจากงานดังกล่าวนี้ แล้วหมากสะโพก ยังใช้จุดในงานศพพระสงฆ์ หรือเจ้าเมืองด้วย เพื่อทำให้เกิดเสียงอึกทึกเพื่อให้ดินปืนอยู่ตัวเวลาพอกติดกับ แซ่ไม้หรือแขน
7.บอกไฟดอก คือ ดอกไม้ไฟหรือดอกไม้เพลิงที่นิยมเรียกกันในภาคกลาง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภทสวยงาม ใช้ดินประสิวกับขี้บาง หรือโลหะผสมระหว่างเหล็กและตะกั่ว หรือสังกะสี อย่างละเอียดและกำมะถัน ถ่านผสมได้ส่วน อัดลงในกระบอกไม้ไผ่ซาง ซึ่งนิยมเอาทางโคนไม้ เพราะหนากว่าข้างปลาย สมัยใหม่นี้นักเล่นไม้เพลิงนิยมเอาท่อเหล็กแทนไม้เป็นส่วนมาก คุณวินัยพูดถึงการใช้เหล็กแทนนี้ว่าไม่ดี เป็นการทำลายประเพณีเก่าของบรรพบุรุษที่นิยมสร้างกันด้วยไม้ทั้งนั้น ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าควรทำทั้งสองอย่างให้มีลักษณะทั้งเก่าทั้งใหม่ปน กัน เป็นการอนุรักษ์ไว้ทั้งสองอย่าง บอกไฟดอกประเภทสวยงามนี้ ทางล้านนาไทยนิยมใช้จุดเป็นพุทธบูชา และจุดเพื่อความสวยงามในงานเทศกาล เช่น เทศน์มหาชาติ เป็นต้น
-ประเภทโลดโผน นิยมเล่นสำหรับแข่งขันในงานสนุกสนาน โดยมากมักจะใช้ขี้เหล็กที่กราดออกมาจากการตีมีด หรือจากโรงกลึงผสมด้วยดินประสิวและถ่าน บอกไฟดอกชนิดนี้นิยมบอกละหลายกิโลกรัม เช่น 5 หรือ 10 กิโลกรัม เวลาจุดมีเสียงดังและมีประกายไฟขึ้นสูงเป็นพุ่มกว้าง เวลาแข่งขันชิงรางวัลจะมีคะแนน จุดง่าย เป็นพุ่มกว้าง สูง เสียงดัง ดอกงาม ถ้าบอกไฟดอกของใครบกพร่องตามกฏเกณฑ์การแข่งขันที่วางไว้นี้ ย่อมแพ้คะแนนเจ้าของบอกไฟคนอื่น ดังนั้นช่างทำบอกไฟดอกจึงมีความพิถีพิถันหาผู้ชำนาญจริงๆ จึงจะชนะคนอื่นได้
8.บอกไฟมะขี้เบ้า ภาคกลางเรียก พะเนียงเต้าดิน ทางเหนือเรียก หมากขี้เบ้า คือ ลักษณะของบอกไฟประเภทนี้ เขาเอาดินมาปั้นเหมือนรูปแมลงที่ทำรังในมูลควายที่ถ่ายไว้ตามท้องทุ่ง มันจะสร้างรังให้กลมและไข่ไว้ในรังนั้นเมื่อลูกโตแล้วมันจะเจาะออกมาเอง รังกลมๆ แบบนี้ ทางเหนือเรียกหมากขี้เบ้าและเวลาทำบอกไฟเล็กเอาดินประสิว ถ่าน กำมะถัน ผสมได้ที่แล้วอัดลงในรูรูปน้ำเต้า หรือมะขี้เบ้า แล้วใส่ชนวนลงไปที่ปากมะขี้เบ้า เก็บไว้นานหลายวัน เพราะดินที่ใช้ปั้นนั้นเป็นดินเหนียว และเผาไฟจนสุกแล้วไม่มีความชื้น จึงเก็บไว้ได้เป็นเดือนๆ บอกไฟมะขี้เบ้านี้ ที่ปรากฏในเรื่องพระเวสสันดรชาดก เรียกว่า บอกไฟขวี หรือไฟที่มีพะเนียงไม่มากนักทำอย่างสวยงามสำหรับเป็นพุทธบูชา
9.สะโพก หรือ หมากสะโป้ก หรือ สะโป๊ก ในสำเนียงภาคเหนือตรงกับของภาคกลางว่า สลุตทำด้วยไม้ไผ่เจาะรูอัดด้วยดินปืนเพื่อให้เกิดเสียงดัง ใช้เฝ่าหรือดินปืนพิเศษ คือ ดินประสิวหรือดินไฟ 1 กิโลกรัมต่อถ่าน 3 ขีด กำมะถัน 1 ขีด บดให้ละเอียด ใช้เป็นดินปืนใช้กับแก๊บได้สะโพกใช้จุดเป็นเครื่องสัญญาณเวลาทานข้าวใหม่ใน เดือนสี่เหนือ ที่เรียกกันว่า "เดือนสี่กินข้าวจี่ข้าวหลาม" แต่ภาคกลางเรียกว่า เดือน 12 เป็นระยะที่ชาวนาทางภาคเหนือเสร็จจากการเก็บเกี่ยวแล้ว เขาจะนำเอาข้าวใหม่อันเกิดจากผลิตผลในนาของตนมาถวายที่วัดกึกก้อง คนโบราณเชื่อว่าบุญกรรมบางอย่างจะต้องมีเสียงกึกก้องไปไกลบอกป่าวพระอินทร์ พระพรหม เทพเจ้าทั้งหลายมาอนุโมทนา
10.มะผาบ หรือ หมากผาบ คือชนวน หรือฝักแค ของภาคกลางที่ทำเป็นชนวนยาว ที่มีชื่อว่ามะผาบนั้น เป็นชื่อที่เรียกตามเสียงไฟปะทุลามเลียเข้าหาวัตถุที่ต้องการเผา เช่น ปราสาทเรือนศพ ที่เขาใส่ประจุไฟไว้ข้างบนจุดฝักแค มะผาบเข้าหา โดยมากชนวนฝักแคใช้เฝ่า 8 คือ ดินประสิว 1 ส่วน ถ่าน 8 ส่วน กำมะถัน 1 ส่วน ตำละเอียด ห่อด้วยกระดาษสา ขนาดยาวและสั้นตามต้องการ
11.บอกไฟดาว คือ พลุ นิยมจุดให้พุ่งขึ้นไปบนอากาศ ปัจจุบันนิยมทำรูปร่มด้วย เวลาระเบิดจะมีคนโดดร่ม ลอยกลางอากาศนาชมยิ่ง การจุดพลุ ทำในเทศกาลงานรื่นเริง เช่น ลอยกระทง งานฟังมหาชาติ งานศพพระสงฆ์ เป็นต้น ในทางทหารมีการยิงพลุสว่างไสวเพราะเป็นการทำแบบวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับ
การสงครามการจุดบอกไฟตั้งแต่สมัยโบราณมา ความต้องการของประชาชนมี 5 ประการด้วยกัน คือ
1.จุดเพื่อให้เกิดความสนุกสนานในงานเทศกาล หรืองานรื่นเริง
2.จุดเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกทิศทางของตน และพวกพ้องเดียวกัน
3.เป็นอาวุธทำลายข้าศึกในการทำสงคราม
4.เป็นเครื่องบูชาพระ หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ เพื่อหวังบุญกุศล
5.จุดในงานศพ เช่น บอกไฟยิง เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนที่มาร่วมในงานศพนั้นๆ






travel and food,Thailand

Advertisement

Post a Comment

 
Top