GOOD

 

memorry memorry Author
Title: ชวนร่วมทำบุญในงาน “บูชาเสาอินทขิล” เชียงใหม่ 2555
Author: memorry
Rating 5 of 5 Des:
        การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ชวนชาวเชียงใหม่ พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจ ร่วม “งานประเพณีใส่ขันดอ...
       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ชวนชาวเชียงใหม่ พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจ ร่วม “งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล” ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 17-24 พ.ค. นี้ ซึ่งการถวายดอกไม้เพื่อบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมืองเป็นความเชื่อของชาว ลัวะโบราณที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจวบจนปัจจุบัน ภายในงานมีกิจกรรมให้ร่วมมากมาย อาทิ ร่วมพิธีทำบุญเข้าอินทขิลสรงน้ำ
       พระพุทธรูปฝนแสนห่า ใส่ขันดอกบูชาอินทขิล ร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกพระกริ่งอินทขิลหลักเมืองมหามงคลเชียงใหม่

      
       ในทุกๆ ปี ชาวเชียงใหม่จะมีการทำพิธีสักการบูชา “เสาอินทขิล” หรือ “เสาหลักเมือง” โดยจะเริ่มต้นในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า “วันเข้า
       อินทขิล”
และจะมีไปจนถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเรียกว่า “วันออก
       อินทขิล”
(เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก โดยนับเดือนตามปีปฏิทินแบบล้านนา) เป็นระยะเวลา 7 วัน เดิมเสาอินทขิลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิลกลางเวียงเชียงใหม่ ตามตำนานกล่าวว่า เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 ได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง โดยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา โดยมีความเชื่อว่า การบูชาเสาอินทขิลจะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่ง ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้าน และเกษตรกรในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และทำการเกษตร และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ดังนั้น ในประเพณีบูชาเสาอินทขิลจึงได้มีการอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่า อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดฝนตก แห่ไปรอบเมืองเชียงใหม่ และนำไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงเพื่อให้ประชาชนได้สักการะ และสรงน้ำ
      
       พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ ได้เล่าความเป็นมาของเสาอินทขิลปรากฏในตำนานอินทขีล หรือ ตำนานสุวรรณคำแดง ไว้ว่า เมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนานั้น เดิมเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ มีผีหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยาก ยากจน ดังนั้น พระอินทร์ จึงบันดาลบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลแบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อ บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะจะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ หากอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่มีความสุข อุดมสมบูรณ์ เมื่อข่าวนี้เลื่องลือไป ทำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขีล หรือ เสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะจึงแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์ และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง แต่มีชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขิลอยู่เสมอ เมื่อได้ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาวบำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึง 3 ปี จนกระทั่งมีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะจึงเกิดความกลัว และขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่า ให้ชาว
       ลัวะร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุมแล้วทำเสาอิน ทขิลไว้เบื้องบน ทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ และทำพิธีบวงสรวงสักการะเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
      
       ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ชวนชาวเชียงใหม่ พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจร่วม “งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล” (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) 17-24 พ.ค. 2555 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้
      
       วันที่ 17 พ.ค. 2555 มีพิธีทำบุญเข้าอินทขิลเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30 น. โดยนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวอัญเชิญพระพุทธรูปฝนแสนห่า ออกจากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระปกเกล้า ผ่านบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เลี้ยวขวาสู่ถนนราชวิถี เข้าสู่ถนนช้างม่อย ถนนช้างม่อยตัดใหม่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน ถึงสี่แยกกลางเวียง เลี้ยวเข้าสู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จากนั้น ในเวลา 16.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาอินทขิล โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำพิธีเปิดโดยลั่นฆ้อง จุดเทียนธูปบูชา และสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า ใส่ขันดอกบูชาอินทขิล จำนวน 32 ขัน และในเวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขิล จากนั้น ในเวลา 19.00 น. ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
       ล้านนา สมโภชเสาอินทขิล
      
       วันที่ 18-23 พ.ค. 2555 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เปิดโอกาสศรัทธาสาธุชนทำบุญใส่ขันดอกตลอดทั้งวัน และในเวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขิล วันที่ 19 พ.ค. 2555 เวลา 13.00 น. พิธีมหาพุทธาภิเษกพระกริ่งอินทขิลหลักเมืองมหามงคลเชียงใหม่ และวันที่ 24 พ.ค. 2555 พิธีทำบุญออกอินทขีล โดยในเวลา 09.30 น. นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่จุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ 108 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 108 รูป
      
       สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันเวลา 08.00-16.30 น. โทร. 0-5324-8604, 0-5324-8607 หรือ โทร. 08-9999-9380, 0-5381-4119

travel and food,Thailand

Advertisement

Post a Comment

 
Top