GOOD

 

memorry memorry Author
Title: ปอยส่างลอง (แม่ฮองสอนเจ้า)
Author: memorry
Rating 5 of 5 Des:
... หลังจากหยุดไปทำใจเรื่องไอ้โรคจิตมา 1 วันนี้ วันนี้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเลิกระลึกถึงมันอีก และเริ่มต้นวันใหม่ ๆ ที่ดี ๆ ค่ะ สาธุ เป็นกำลังใจ...
... หลังจากหยุดไปทำใจเรื่องไอ้โรคจิตมา 1 วันนี้ วันนี้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเลิกระลึกถึงมันอีก และเริ่มต้นวันใหม่ ๆ ที่ดี ๆ ค่ะ สาธุ เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ ..... พอดีมีเพื่อนอยู่แม่ฮองสอนอ่ะค่ะ เห็นเพื่อนบอกว่า ต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้เค้ามีประเพณีปอยส่างลอง กัน จึงเกิดไอเดีย ปริ๊ง ๆ ขึ้นมา ณ บัดดล ว่าต้องเอามาลงบล็อคให้คุณ ๆ อ่านกันเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงสืบต่อไปค่ะ (ความจริงอยากไปเที่ยวักครั้ง แต่งานเจ้ากรรมก็หยุดไม่ได้ เฮ้ยยย เซ็งเป็ด).... หลาย ๆ คน คงเคยผ่านหูมาบ้างนะคะ สำหรับประเพณีปอยส่างลองนี้ แต่จะมีใครทราบบ้างล่ะคะ ว่า เค้าหมายถึงประเพณีอะไรกัน วันนี้เราจึงเอรามาตีแผ่ให้คุณ ๆ ได้รับทราบกันค่ะ ^^




ประวัติ / ความเป็นมา
ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีที่เดี่ยวกับการบวชของชาวไทยใหญ่ที่สืบทอด ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถือว่าเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ ได้อานิสงส์มาก
คำว่า "ส่างลอง" เป็นภาษาไทยใหญ่ เกิดจากคำผสมระหว่าง "ส่าง" แปลว่า สามเณร และคำว่า "ลอง" แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์หรือเทพบุตร หรือผู้เป็นหน่อเนื้อของผู้วิเศษ คำเต็มคือ "อลอง" เมื่อผสมกับคำว่า "ส่าง" เสียงอะที่อยู่หน้ากร่อนหายไป สันนิษฐานว่าเป็นภาษาพม่าที่นำมาใช้ภาษาไทยใหญ่
อีกนัยหนึ่งคำว่า "ส่างลอง" เทียบได้กับคำว่า "ลูกแก้ว" ในภาษาถิ่นล้านนา ประเพณีทำบุญส่างลอง เรียกว่า ปอยส่างลอง คำว่า "ปอย" คือ งานอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ในการบรรพชา หรือ บวชลูกแก้วของชาวล้านนา


ส่วนประวัติความเป็นมามีกล่าวไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ในสมัยอดีตกาล ณ เมืองหนึ่งมีพระมหากษัตริย์ มีโอรสทรงพระนามว่า "จิตตะมังชา" ครั้นโอรสมีอายุได้ 10 ชันษา พระบิดาก็มุ่งหวังจะให้โอรสได้ผนวชเป็นสามเณร แต่พระองค์ไม่ทรงบังคับแต่อย่างใด ความนี้ล่วงรู้ไปถึง "จิตตมังชาโอรส" จึงได้ตัดสินใจขอผนวชเอง ทำให้พระราชบิดาทรงปลาบปลื้มมาก รับสั่งให้มีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 วัน 7 คืน ได้แห่ส่างลองจิตตะมังไปรอบเมือง และไปหาพระพุทธเจ้า
สามเณรจิตตมังชาผนวชอยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแตกฉานและได้สำแดงบุญบารมีเป็นที่ประจักษ์ไป ทั่ว เช่นครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสร็จไปเยี่ยมพระประยูรญาติ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ พระนางปชาบดีโคตมีได้ทอผ้าจีวรด้วยเส้นทองคำ 2 ผืน ถวายแด่ พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับผืนเดียวที่เหลือไม่มีสาวกองค์อื่นกล้ารับ แต่สามเณรจิตตมังชากล้ารับทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นอันมากว่า สามเณรจิตตะมังชายังเยาว์วัยเกินไปไม่สมควรรับ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงจัดให้สาวกมาประชุมกัน แล้วพระองค์ทรงโยนบาตรขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับตรัสว่า สาวกองค์ใดจะมีความสามารถรับบาตรนี้ได้ ปรากฏว่าผู้ที่สามารถรับบาตรนี้ได้คือ สามเณรจิตตะมังชาได้เหาะไปรับบาตรมาถวายพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่า เหมาะที่จะรับจีวรด้ายทองคำ และเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า สมัยพุทธกาลที่เมืองแห่งหนึ่งมีงานปอยส่างลอง โดยคหบดีเศรษฐีผู้มีเงินทองหลายคนร่วมกันจัดงาน แต่มีครอบครัวหนึ่งกำพร้าพ่อเหลือแม่กับลูกชายที่มีรูปร่างอัปลักษณ์น่า เกลียดไม่มีใครอยากคบด้วย ลูกชายอยากเป็นส่างลองมาก แต่แม่ยากจนไม่สามารถหาเงินมาจัดงาน "ปอยส่างลอง" ได้ พร้อมทั้งถูกพูดจาถากถางตลอดว่า "ยากจนแล้วอย่างเป็นส่างลอง" ยิ่งใกล้ถึงวันรับส่างลอง เสียฆ้องกลองบ้านเจ้าภาพทำให้ทั้งแม่และลูกเป็นทุกข์มาก ครั้นหมดปัญญาจะหาเงินมาร่วมจัดงานด้วยเรื่องนี้ร้อนไปถึง "บุนสาง" หรือพระพรหม ผู้มีหูตาทิพย์ เมื่อทราบจึงมีความคิดที่จะช่วยทั้งสอง จึงแปลงร่างเป็นชายแก่มอบเงินทองให้ แต่ก็ติดขัดที่ลูกชายรูปร่างอัปลักษณ์ พระพรหมก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงจะช่วยเอง
จนถึงวันรับส่างลอง เมื่อแต่งชุดส่างลองแล้ว พระพรหมก็เนรมิตรูปร่างให้ใหม่กลายเป็นส่างลองที่สวยงาม แต่งคล้ายเจ้าชายมีเครื่องประดับสวยงาม เพื่อแห่ส่างลองไปรอบๆ เมือง ผู้คนพบเห็นต่างก็ประทับใจ กล่าวชมความสวยงามและน่ารักของส่างลองเป็นอันมาก จวบจนเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การจัดงาน "ปอยส่างลอง" จะได้อานิสงส์มาก ถ้าได้บวชลูกตนเองเป็นสามเณรได้อานิสงส์ 7 กัลป์ถ้าบวชลูกคนอื่นได้อานิสงส์ 4 กัลป์ ถ้าได้อุปสมบทลูกตัวเองเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ถึง 12 กัลป์ อุปสมบทลูกคนอื่นเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ 8 กัลป์ ดังนั้นชาวไทยใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องพยายามจัดงานปอยส่างลอง ให้ได้
งานปอยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยึดถือปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีแล้ว เช่นในคราวที่สมเด็จเจ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปตรวจราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2472 ได้บันทึกไว้ในรายงานความว่า
"ในวันที่ขึ้นพระธาตุดอยกองมูนี้ ที่เชิงดอยมีแห่ครัวทานตามแบบพายัพ พญาพิศาลฮ่องสอนกิจ พ่อเมือง นำหน้าขบวนแล้วก็ถึงมหรสพแล้วถึงมณฑปทำด้วยกระดาษมีคานหาม ต่อนั้นไปมีผู้หญิงงามถือธูปเทียนตกแต่งด้วยเครื่องกระดาษ ประมาณ 40 คน มีสำรับคาวหวาน คนหาบซึ่งมีเด็กซึ่งบวชเป็นสามเณรในวันนั้น ขี่คอคนต่างม้า ยึดผ้าโพกศีรษะคนนั้นๆ เป็นบังเหียนเต้นทำนองม้า มีกลดทองแบบพม่าทั้งสิ้น ข้างขวาคนละ 2 คัน รวม 10 คัน มีนางงามโปรยข้าวตอกซัดเตจ้านาค เจ้านาคแต่งตัวคล้ายละครพม่า พิธีนี้ตามคำเมืองเรียกว่า "บวชลูกแก้ว หรือ ปอยส่างลอง" ตามภาษาไทยใหญ่"


กำหนดงาน
นิยมจัดช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียน และเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนไม่ตก สะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่กันและเป็นช่วงที่เก็บผลผลิตจากไร่ เช่น กระเทียม ถั่วเหลือง ออกจำหน่ายและเป็นเงินทุนในการจัดงาน


กิจกรรม / พิธี
วิธีการจัดงานบวชเณรของชาวไทยใหญ่นั้น มีวิธีบวช 2 วิธี คือ แบบที่เรียกว่า "ข่ามดิบและแบบส่างลอง" แบบข่ามดิบ เป็นวิธีการง่ายๆ ประหยัดไม่ต้องใช้เวลาในการเตรียมงาน และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก วิธีการคือ เมื่อตกลงกันว่าจะนำเด็กมาบรรพชาเป็นสามเณร พ่อแม่จะโกนหัวเด็ก หรือนำเด็กไปโกนหัวที่วัด นุ่งขาวห่มขาวเตรียมเครื่องไทยทาน อัฏฐบริขารที่จำเป็นต้องใช้ในพิธีบรรพชาที่วัด เป็นอันเสร็จพิธี
แบบส่างลอง เป็นวิธีที่ต้องเตรียมงานกันนาน ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลา 3-5 วัน มีการเชิญผู้มาร่วมงานจำนวนมาก มีขั้นตอนมากมาย คือ หลังจากเตรียมงานแล้ว ก็จะนำเด็กไปโกนหัวแต่งตัวเป็นส่างลองหรือลูกแก้ว แห่ไปขอขมาที่ต่างๆ แห่เครื่องไทยทานจากหมู่บ้านไปสู่วัด แห่ส่างลองจากบ้านไปทำพิธีขอบรรพชาที่วัด และมีการเฉลิมฉลองกันที่วัดหรือที่บ้านอีกวันหนึ่งจึงจะเสร็จพิธี แบบส่างลอง นี้เป็นที่นิยมจัดกันมากทุกหมู่บ้านและท้องถิ่นด้วย
การจัดงานส่างลองมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นเตรียมงาน ก่อนถึงพิธีประมาณครึ่งเดือนถึง 3 เดือน หรืออาจจะน้อยวันกว่านี้ แล้วแต่ความใหญ่โตของงาน จะทำการเตรียมข้าวตอก (ทำจากข้าวเหนียว) เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะ และนำไปคลุกกับน้ำอ้อยเชื่อมปั้นเป็นก้อนขนาดโตพอประมาณ เรียกว่า "ข้าวแตกปั้น" สำหรับเป็นของหวานและไทยธรรม เตรียมบุหรี่มี 2 ชนิด คือ ยาฉุนกับขี้ยาฉุน มวนจากยาสูบพื้นเมืองด้วยใบตองกล้วยอบแห้งหรือใยกาบต้นหมาก ส่วนบุหรี่ขี้โยมวนจากยาฉุนผสมแก่นไม้ไคร้สับ หรือเปลือกมะขามคลุกน้ำอ้อยและมะขามเปียกตากแห้ง เป็นบุหรี่รสจืดสำหรับผู้หญิงสูบ เพื่อใช้ต้อนรับแขกที่มาร่วมงานและเป็นเครื่องไทยธรรม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นบุหรี่ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขาร พอใกล้ถึงกำหนดเวลาพิธี 7 วัน มีการเตรียมตกแต่งเครื่องไทยธรรมและอัฏฐบริขาร เช่น จัดทำต้นข้าวแตก โดยนำข้าวแตกมาห่อด้วยกระดาษสาผูกติดกับธงสามเหลี่ยมเป็นช่อๆ แล้วนำไปผูกไขว้เป็นคู่ๆ ติดกับลำไม้ไผ่หรือลำไม้รวกยาวประมาณ 5-6 เมตรห่อข้าวแตกนี้จะนำมาแจกผู้เข้าพิธีร่วมพิธีในวันสุดท้าย เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะต่างๆ ดอกไม้ธูปเทียน สำหรับอัฏฐบริขาร เช่น บาตร จีวร เสื่อ หมอน ผ้าห่ม จาน ช้อน เครื่องกรองน้ำ มีดโกน ฯลฯ แล้วนำทั้งหมดมาตกแต่งด้วยไหมพรม ถักตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ เป็นผืนหุ้มอุปกรณ์เหล่านั้น นำไปผูกติดกับคานไม้ยาวประมาณ 3 เมตร เพื่อสะดวกในการให้คนหามนำเข้าขบวนแห่ในวันพิธีเครื่องไทยธรรม นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมสถานที่ซี่งมักใช้ที่วัด และถ้าเป็นพิธีใหญ่จะต้องมีการปลูกสร้างปะรำ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครบถ้วน รวมทั้งต้องจัดเตรียมเครื่องทรงของลูกแก้ว รวมไปถึงเครื่องประดับตกแต่ง เช่น สร้อย แหวน ชฎา เป็นต้น

ขั้นตอนการเป็นลอง หรืออลอง เป็นช่วงที่สมมติว่าเป็นกษัตริย์ เช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ดำรงฐานะก่อนผนวช เริ่มจากวันแฮก คือ วันเริ่มแรกของงานนั่นเอง ส่วนมากเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ตอนเย็นก่อนวันแฮกผู้ที่ออกบวชต้องไปขออนุญาตบิดา มารดา โกนหัว นุ่งขาว สมาทานเบญจศีลก่อนเข้านอน คืนนั้น รุ่งเช้าประมาณ 05.00 น. ให้ผู้ที่บวชอาบน้ำเงิน น้ำทองได้แก่ น้ำแช่เงินทอง และเครื่องหอม หรือมะกรูด ส้มป่อย ฯลฯ เสร็จแล้วพากันไปวัดเพื่อสมาทานเบญจศีล และเริ่มงานบวชอลองต่อไป หลังจากการรับศีลแล้ว บริวาร(คนแต่งตัว) ของอลอง จะแต่งหน้าแต่งเครื่องทรงให้ใหม่ เมื่อแต่งเสร็จแล้วถือว่าเป็นอลองเต็มตัว การปฏิบัติต่ออลองในช่วงต่อไปนี้จะสมมติเหมือนการปฏิบัติต่อกษัตริย์ อลองจะไม่มีโอกาสเหยียบดินจนกว่าจะถึงวันบรรพชาอุปสมบท
และจะไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และโบราณสถานต่างๆ ภายในวัด และเดินทางไปยังศาลหลักเมือง หรือเจ้าเมื้อในภาษาถิ่น เพื่อกราบคารวะเจ้าเมืองหรือศาลหลักเมืองประจำหมู่บ้านเสมอ เป็นสถานที่ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือมาก เชื่อกันว่า เป็นผู้ครองหมู่บ้านให้อยู่เป็นสุข จากนั้นจะไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในหมู่บ้าน หรือในหมู่บ้านใกล้เคียง
หลังจากนั้นอลองจะไปเยี่ยมตามบ้านญาติ เสมือนเป็นการประพาสต้น เจ้าของบ้านที่อลองไปเยี่ยมจะถือว่าเป็นโชค เป็นเกียรติ และเป็นบุญที่ได้มีโอกาสได้ต้อนรับ จะเตรียมอาหารว่างถวายอลองและเลี้ยงบริวารด้วยความเต็มใจ ญาติผู้ใหญ่จะผูกข้อมืออวยชัยให้พรแก่อลอง การผูกข้อมือสมัยก่อนใช้เงินเหรียญผูกกับด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือ ปัจจุบันเหรียญหายาก ให้ธนบัตรและเหรียญธรรมดาแทนก็ได้
ต่อจากนั้นจะเป็นวันข่ามแขก คือ วันรับแขกนั่นเอง เป็นวันที่ญาติพี่น้อง จากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน วันนี้เจ้าภาพต้องเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากกว่าปกติ ญาติที่มาร่วมงานจะผูกข้อมืออวยพรให้อลอง ชื่นชมบารมีอลอง ช่วยงาน และร่วมสนุกสนานต่างๆ เป็นการเฉลิมฉลอง กิจกรรมการบันเทิงมีการบรรเลงเครื่องดนตรี คือ กลองมองเซิง เป็นเครื่องดนตรีมีอุปกรณ์มากกว่ากลองก้นยาว (ชุดเคลื่อนที่เร็ว) นิยมจัดไว้ให้บรรเลงกันที่บ้านเจ้าภาพ และบรรเลงร่วมขบวนแห่เครื่องไทยธรรม ประกอบด้วยฆ้อง 2 หน้า ฆ้องขนาดใหญ่ ฆ้องขนาดกลาง และฆ้องขนาดเล็ก อีกประมาณ 6-8 ใบ ฉาบใหญ่ ฉิ่ง

ตอนกลางคืนจะมีการโต้กลอนสด หรือร่ายสดภาษาถิ่นเรียกว่า "เฮ็ดกวาม" คำว่า "เฮ็ด" แปลว่า ทำ "กวาม" แปลว่า ความหรือคำ หรือเพลง รวมแล้วแปลว่า ทำถ้อยคำ หรือทำเพลง ทำกลอนนั่นเอง ตอนหัวค่ำเป็นการว่ากลอน หรือร่าย ชมเครื่องไทยธรรม สรรเสริญเจ้าภาพยกย่องเชิดชู มักดำเนินงานด้วยศิลปินอาวุโสหรือผู้มีประสบการณ์มาก ตกดึกเป็นการโต้คารมกันด้วยเชิงกลอน หรือร่ายกลอนสดระหว่างชายหญิงการโต้คารมนี้มีระหว่างงานทุกคืน ไม่เฉพาะแต่วันรับแขกเท่านั้น และโต้กันจนสว่าง หรือจนกว่าจะเหน็ดเหนื่อยเลิกรากันไปเอง ทำนองกลอนหรือร่ายเป็นทำนองเพลงไทยใหญ่ มีหลายทำนอง เช่น "ล่องคง" เป็นทำนองช้า จังหวะหวาน ใช้สรรเสริญยกย่องหรือเกี้ยวพาราสี "ปานแซง" เป็นทำนองจังหวะเร็ว ใช้เป็นเพลงเดินในละครไทยใหญ่ และโต้คารมกันในลักษณะต่อว่าต่อขานกัน "นกกือ" เป็นทำนองเลียนจังหวะเสียงนกใช้ในบทของผู้เป็นใหญ่ หรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น ฤาษี เป็นต้น
ก่อนวันบรรพชา หรืออุปสมบท มีการแห่ไทยธรรมเป็นขบวนใหญ่ เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้ เหมือนกับการเลียบนครของอลอง ขบวนเริ่มด้วยผู้อาวุโสแต่งชุดขาว ถือขันข้าวตอกดอกไม้นำหน้า ถัดมาเป็นกังสดาลใหญ่ตีเป็นระยะๆ ต่อด้วยชุดดนตรีกลองมองเซิง ตามด้วยขบวนไทยธรรม หากมีดนตรีพื้นเมือง เช่น สะล้อ ซอ ซึง ก็จะนำมาบรรเลงคั่นขบวนช่วงนี้ด้วย ท้ายขบวนเป็นคณะอลอง และบริวาร บรรเลงดนตรี (กลองก้านยาว) ฟ้อนรำปิดท้าย แห่ขบวนรอบหมู่บ้าน แล้วนำไปไว้ที่วัดหากยังไม่ประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทในวันนี้ กิจกรรมต่อเนื่องที่วัดมีการถ่อมลีค คือ การฟังธรรมโดยบัณฑิตหรือผู้ที่มีความรู้ด้านหนังสือเป็นผู้อ่าน ผู้อ่านจะนั่งบนอาสนะที่จัดให้ข้างหน้าพระประธานในวิหาร หรือศาลาการเปรียญ ผู้ฟังนั่งเป็นแถวถัดออกมา หนังสือที่ใช้อ่านเป็นสมุดข่อยขนาดใหญ่เขียนภาษาไทยใหญ่ เนื้อหาเป็นชาดกทางพุทธศาสนา ส่วนอลองก็จะถูกบริวารนำไปเยี่ยมตามบ้านญาติที่ยังเหลือหรือพักผ่อนตาม อัธยาศัย
ก่อนบรรพชาอุปสมบท มักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างหนึ่ง คือ คณะบริวารจะนำอลองไปซุกซ่อนไว้ไม่ยอมให้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เพราะอยากให้เป็นอลองต่อไปนานๆ เจ้าภาพต้องนำข้าวตอกดอกไม้ไปตามง้อขอให้นำอลองมาบรรพชาอุปสมบทตามกำหนดการ
จากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพิธีทางสงฆ์ ปฏิบัติเหมือนกันกับท้องถิ่นอื่นทุกประการ การบรรพชานิยมทำในตอนบ่าย ส่วนการอุปสมบทมักทำในตอนเช้ามืดเลียนแบบการผนวชของเจ้าชายสิทธัต ถะ
ปัจจุบันประเพณีการบวชส่างลองถูกตัดทอนไปมาก เช่น จำนวนวัน ขั้นตอน เพราะเสียค่าใช้จ่ายมาก เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย


ขอคุณข้อมูลจาก ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน (แม่ฮ่องสอน) ค่ะ

travel and food,Thailand

Advertisement

Post a Comment

 
Top