GOOD

 

memorry memorry Author
Title: แม่กำปอง...สองอารมณ์ : เหินฟ้าเยี่ยงชะนี-ยลวิถีชาวบ้าน
Author: memorry
Rating 5 of 5 Des:
สวัสดีค่ะ คุณ ๆ ทั้งหลาย ช่วงนี้เราไม่ค่อยได้เขียน blog เองเลยค่ะ เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ และช่วงนี้ก็กำลังจะทำโปรเจคขายเสื้อผ้า ของของใ...
สวัสดีค่ะ คุณ ๆ ทั้งหลาย ช่วงนี้เราไม่ค่อยได้เขียน blog เองเลยค่ะ เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ และช่วงนี้ก็กำลังจะทำโปรเจคขายเสื้อผ้า ของของใช้มือสองบนเว็ปอยู่ค่ะ ประกอบกับช่วงนี้เปิดตัวเว็ปส่วนตัวอีกหลายเว็ป วันนี้เอามานำเสนอกัน 1 เว็ปก่อน นั่นก็คือ แต๊น แตน แต้นนนน http://www.womanplus.krubpom.com ค่ะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ผู้หญิงค่ะ คุณผู้ชายอ่านได้ คุณผุ้หญิงอ่านดีค่ะ หากใครว่าง ๆ ก็สามารถ เข้าไปเยี่ยมชมได้นะคะ เลยไม่ค่อยมีเวลาเขียน blog เท่าไหร่ แต่ก็จะพยายามคัดสรรค์เรื่องดี ๆ มาลง blog ให้อ่านกันนะคะ รับรองว่า เนื้อหาคุณภาพแน่นอค่ะ ใครไม่คัดเราคัด คิคิ

อย่างเช่นวันนี้ค่ะ ได้เจอ บทความดี ๆ จาก ผู้จัดการออนไลน์ค่ะ เห็นข้อมูลน่าสนใจดี เลยเอามาลงให้คุณ ๆ อ่านกันนะคะ

ผู้จัดการออนไลน์ - ขณะที่แสงแดดเริ่มเรื่อเรือง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” กับเพื่อนร่วมทริปก็รีบกุลีกุจอออกเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่ บ้านแม่กำปอง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นชื่อแห่ง ต.ห้วยแก้ว กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

เหตุที่เราต้องรีบเร่งออกกันตั้งแต่ฟ้าเริ่มสาง ก็เพราะเช้าตรู่วันนี้ (ประมาณ 7 โมง) เรามีนัดกับกิจกรรมผจญภัยมันๆ ตื่นเต้น เร้าใจ กันที่หมู่บ้านแห่งนี้นั่นเอง

อารมณ์แรก...แปลงเป็นชะนี(ชั่วคราว)

จากตัวเมืองเชียงใหม่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”นั่งกึ่งหลับกึ่งตื่นประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็มาถึงยังหมู่บ้านแม่กำปอง ที่ยามเช้าอย่างนี้อากาศสดชื่นเย็นสบายมากๆ

อากาศเย็นสบายๆแบบนี้แหละ เหมาะแก่การเหินฟ้าบนยอดไม้ไปกับกิจกรรม “Flight of the Gibbon” หรือที่หลายคนเรียกว่า “เที่ยวบินชะนี” เป็น อย่างยิ่ง เพราะจะได้ไม่ร้อนตอนผจญภัย ซึ่งงานนี้จะสร้างความระทึกใจให้กับเราได้แค่ไหน เดี๋ยวคงได้รู้กัน แต่ตอนนี้ขอสวมหมวก ชุดและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกผจญภัยกันก่อน

เมื่อชุดพร้อม คนพร้อม คณะเราก็เดินทางไปยังจุดเริ่มต้น เพื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำกิจกรรมนี้

สำหรับลักษณะของกิจกรรมเที่ยวบินชะนี มันก็คือการเคลื่อนตัวเหินฟ้าลอยละลิ่วจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้ต้น หนึ่ง ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ (เขาว่าคล้ายการห้อยโหนของชะนี) โดยมีการแบ่งเป็นฐานต่างๆ 18 ฐาน ซึ่งที่นี่เขาจะเน้นมากในเรื่องของการห้อยโหนสลิงด้วยรอก (เคเบิ้ลไลน์) เสริมด้วยการเดินข้ามสะพานแขวน 2 จุด และการโรยตัวอีก 3 จุด ไปหยุดตามฐานต่างๆที่ทำเป็นห้างแคร่เล็กๆบนต้นไม้ ท่ามกลางความดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยอย่างถึงที่สุด



เมื่อทุกคนรับรู้ในวิธีการแล้ว อ้าย(พี่)อนันต์ ไทยกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลความปลอดภัยก็เหินฟ้าโหนสลิงนำร่องไปรอรับพวกเราที่ฐาน 2 บน ต้นไม้ใหญ่ต้นถัดไป ก่อนให้เจ้าหน้าที่อีกคนดูแลปล่อยพวกเราลอยละลิ่วข้ามยอดไม้ไปทีละคน ทีละคน

หลังพวกเราเริ่มชิน อ้ายอนันต์ก็ถือโอกาสให้ความรู้เรื่องผืนป่าและเรื่องต้นไม้ไปตามจุดพักคอย (ห้าง)บนฐานต่างๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผืนป่าชุมชนนอกเขตอุทยานฯแห่งนี้จะอุดมสมบูรณ์เขียวครึ้ม เต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ขนาดหลายคนโอบมากมาย โดยต้นไม้ใหญ่หลายต้นได้ถูกดัดแปลงเป็นฐานพักของกิจกรรมเที่ยวบินชะนี

แน่นอนว่าเมื่อมีการจัดกิจกรรมกลางผืนป่าแบบนี้ สิ่งที่เราสงสัยก็คือเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศหรือ?

เรื่องนี้อ้ายอนันต์บอกว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นการก่อสร้างโดยวิศกรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่นำรูปแบบมาเส้น ทางวิจัยบนยอดไม้ในเวเนซูเอล่า ซึ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในการก่อสร้างชาวบ้านยังได้เข้าร่วมสำรวจคัดเลือกเส้นทางอย่างใกล้ ชิด

“ชุมชนเราเน้นมากใน เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิถีชีวิต แต่เมื่อมีทุนข้างนอกเข้ามา ถ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน มีการบริหารจัดการที่ดี และปฏิบัติตามกฎของหมู่บ้านได้เราก็ยินดี เพราะเมื่อเกิดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น ชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากการขายของที่ระลึก ร้านอาหาร โฮมสเตย์ และส่วนแบ่งจากกิจกรรมนี้”

อืม...ฟังแล้วก็มีเหตุผลเหมาะสม ยังไงๆงานนี้คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะในเมื่อชาวบ้านมั่นใจว่าจะดูแลบริหารการท่องเที่ยวในชุมชนได้ก็ถือเป็น วิถีที่พวกเขาเลือกแล้ว ส่วนตัวเรานะตอนนี้ไม่มีทางเลือกใดๆนอกจากบินไป ห้อย โหนไปให้ถึงยังจุดหมายตามฐานที่เหลือ ซึ่งก็ยังคงสนุกตื่นเต้นเหมือนเดิม แถวช่วง 2-3 ฐานสุดท้ายนี่วิวสวยทั้งผืนป่าและต้นไม้ใหญ่ ก่อนที่พวกเราจะปิดท้ายกันด้วยการโรยตัวลงมาอย่างเนิบนาบ ทิ้งเที่ยวบินชะนีไว้กลางป่าใหญ่ให้นักท่องเที่ยวรุ่นหลังเข้ามาสัมผัสกับ ความตื่นเต้น หวาดเสียวกันต่อไป

อารมณ์หลัง...เที่ยวน้ำตก-ยลวิถีพื้นบ้าน

หลังใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ตื่นเต้นสุดขั้วกับเที่ยวบินชะนี “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เราแวะกินมื้อเที่ยงกับอาหารพื้นบ้านในร้านอาหารชุมชน เพื่อตุนพลังไว้เที่ยวตามจุดอื่นๆในหมู่บ้าน

สำหรับหมู่บ้านแม่กำปอง เป็นบ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ตั้งเรียงรายอยู่บนเนินเขาที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นป่าเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร

อ้ายอนันต์เล่าว่าชื่อ หมู่บ้านนี้มาจากคำว่า“แม่” ที่แปลว่าแม่น้ำ กับ “กำปอง” ที่เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชาวหมู่บ้านล้วนดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแต่ว่ามาก เสน่ห์อยู่ในที มีอาชีพหลักคือการทำสวนชา กาแฟ ทำเมี่ยง(ชา) มีธรรมชาติสมบูรณ์ ป่าไม้ น้ำตก โรงฟ้าพลังน้ำ มีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่น่าสนใจ เป็นต้น

และด้วยเสน่ห์ต่างๆเหล่านี้ทำให้ชาวชุมชนแม่กำปองเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่อง เที่ยวเชิงอนุรักษ์และโฮมสเตย์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 โดยการนำของ พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้าน

ปัจจุบันชื่อชั้นทางการ ท่องเที่ยวชุมชนของหมู่บ้านแม่กำปองนั้นถือว่าโดดเด่นไม่น้อยเลย โดยหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของบ้านแม่กำปองนั้นก็คือน้ำตกแม่กำปอง ที่เรากำลังจะไปเยือนเป็นจุดหมายต่อไป

น้ำตกแม่กำปอง อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน มีอยู่ 7 ชั้นด้วยกัน เป็นน้ำตกที่มีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปี มีทางเดินเท้าไปตามเส้นทางเล็กๆ คู่ขนานไปกับธารน้ำตก ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้อันร่มรื่น ที่ระหว่างทางมีแอ่งน้ำ และพันธุ์ไม้น้อยใหญ่แปลกตาให้ชมกัน

หลังใช้เวลาไป-กลับ และเพลิดเพลินกับน้ำตกแม่กำปองอยู่จนหนำใจ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็กลับมาเที่ยวต่อในหมู่บ้าน ซึ่งอ้ายอนันต์ก็พาเราเดินชมสีสันความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และชมตามบ้านโฮมสเตย์ต่างๆที่แต่ละหลังน่าอยู่น่านอนทั้งนั้น จนทำให้เราอยากเปลี่ยนใจพักค้างที่นี่ แต่ว่าก็ติดที่มีนัดเที่ยวที่อื่นในเชียงใหม่จึงได้แต่ติดค้างไว้ว่า อนาคตจะกลับมานอนโฮมสเตย์ที่บ้านแม่กำปองอย่างแน่นอน ส่วนตอนนี้พวกเราเลือกล่ำลาบ้านแม่กำปองด้วยการไปไหว้พระที่วัดแม่กำปองหรือ วัดคันธาพฤกษา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเดินทางต่อไป

วัดแม่กำปอง เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน มีวิหารไม้ที่สร้างอย่างเรียบง่ายแต่สมส่วนและงดงามด้วยหน้าบันสลักไม้ รูปครุฑกับลวดลายเครือเถาดูแปลกตาน่ายล ส่วนบนหลังคานั้นมีมอสขึ้นปกคลุมหลังคาอย่างหนาแน่น ดูเขียวชอุ่มคล้ายมีพรมผืนใหญ่สีเขียวคลุมหลังคาไว้

นอกจากนี้ที่วัดแม่กำปอง ภายในศาลาวัดยังมีชาวบ้านมารวมกลุ่มกันทำแปรรูปใบชา เป็นหมอนใบชา ที่มีกลิ่นหอม ช่วยให้สดชื่น และผ่อนคลายเวลานอน นับเป็นของฝากติดไม้ติดมือที่น่าสนใจ ซึ่งแน่นอนว่างานนี้เราต้องกระจายรายได้ก่อนจากลากันเสียหน่อย

หลังได้หมอนใบโปรดและหมอนใบเล็กที่ดับกลิ่นอับ คณะเราก็ล่ำลาจากบ้านแม่กำปองอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างที่นั่งรถกลับนั้น ”ผู้จัดการท่องเที่ยว” รู้สึกว่าตัวเองนั้นบังเกิดความรู้สึก 2 อารมณ์ 2 ความต่างขึ้นในจิตใจ

หนึ่งนั้นเป็นอารมณ์ สนุก ประทับใจ ที่ได้จากการเที่ยวหมู่บ้านนี้

ส่วนอีกหนึ่งนั้นก็เป็นอารมณ์กังวล ห่วงใย

เพราะเท่าที่รู้มา หมู่บ้านนี้หลังจากสะสมชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวมาหลายปี ปัจจุบันเริ่มเป็นที่สนใจของบรรดานักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือบรรดานักลงทุนด้านการท่องเที่ยวหลายๆคนเริ่มชายตามามองบ้านแม่ กำปองแล้ว โดยบางคนหวังว่าจะทำให้ที่นี่เป็นดัง “ปาย” (จ.แม่ฮ่องสอน) แห่งที่สอง เพราะเท่าที่พูดคุยกับชาวบ้าน ที่นี่เริ่มมีทุนต่างถิ่นเข้ามาเจาะฐานชุมชนแล้ว

เรื่องนี้จึงทำให้เราอดกังวลไม่ได้ว่าวัน หนึ่งบ้านแม่กำปองอาจเสียศูนย์ เพราะทุนสามานย์เข้ามาโจมตี ซึ่งยังไงก็ขอภาวนาว่า “อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย เป็นหมู่บ้านแม่กำปองที่เรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์แบบนี้น่ะดีแล้ว”


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์





travel and food,Thailand

Advertisement

Post a Comment

Madame Tabb said... January 30, 2009 at 2:16 AM

เอ่อ..น้องเมโม่คะ อารมณ์แรกขณะที่เหินไปบนรอกต้องส่งเสียงร้อง ผัวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ไปด้วยหรือเปล่าคะ?( อิอิ)

memorry said... January 30, 2009 at 10:48 AM

แหม คุงพี่ก้อ แต่น่าไปลองเนอะ คงมันส์ดี คุงพี่ไปด้วยกันป่าว

Anonymous said... February 5, 2009 at 11:02 PM

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ จ้า

 
Top